ปฎิทิน

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พลูโตก็มีมหาสมุทรได้

ใครจะคิดว่าดาวพลูโต สมาชิกระบบสุริยะที่อยู่ไกลสุดกู่และหนาวเหน็บถึง -230 องศาเซลเซียส อาจมีมหาสมุทรที่เป็นของเหลวอยู่เหมือนกัน
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ ซานตาครูซ ได้สร้างแบบจำลองของดาวพลูโตใหม่ โดยพิจารณาถึงความร้อนที่แกนกลางที่จะเกิดขึ้นจากกัมมันตรังสี พบว่าลึกลงไปใต้ผิวน้ำแข็งของพลูโต อุณหภูมิน่าจะสูงพอที่จะทำให้น้ำอยู่ในสถานะของเหลวได้
มหาสมุทรบนพลูโตนี้ไม่ใช่มหาสมุทรบนพื้นผิวอย่างบนโลก แต่เป็นมหาสมุทรใต้พื้นผิว มหาสมุทรนี้อาจมีความหนาถึง 100-170 กิโลเมตร และอยู่ลึกลงไปใต้ผิวน้ำแข็งถึง 200 กิโลเมตร
พลูโตไม่ใช่ดวงแรกที่นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าจะมีมหาสมุทรใต้พิภพ ดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี ไททันและเอนเซลาดัสของดาวเสาร์ ก็เชื่อกันว่ามีมหาสมุทรใต้พิภพเช่นกัน
ความร้อนในใจกลางพลูโตเกิดขึ้นมาจากการสลายของสารกัมมันตรังสีที่อยู่ในก้อนหินที่ใจกลางพลูโต โดยเฉพาะโพแทสเซียม-40 นักวิทยาศาสตร์ผู้วิจัยเรื่องนี้อธิบายว่า เงื่อนไขนี้เกิดขึ้นได้ไม่ยากเย็นนัก ขอเพียงแต่ให้หินที่แกนกลางของดาวพลูโตมีโพแทสเซียมกัมมันตรังสีอย่างน้อยหนึ่งร้อยส่วนในพันล้านส่วนก็พอ (หินบนโลกเรามีโพแทสเซียมปะปนอยู่หนึ่งในหมื่นส่วน) และหินในพลูโตนั้นก็ต้องรวมกันอยู่ที่แกนกลางและมีน้ำแข็งหุ้มอยู่เป็นเปลือกนอกของดาว
อย่างไรก็ตาม เรื่องมหาสมุทรใต้พิภพของพลูโตนี้ ยังคงเป็นทฤษฎีที่อยู่บนแผ่นกระดาษเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีหลักฐานมาสนับสนุนแม้แต่ชิ้นเดียว เพราะยังไม่เคยมียานลำไหนไปสำรวจดาวเคราะห์แคระดวงนี้ในระยะใกล้เลย แต่ความหวังที่จะได้พิสูจน์เรื่องนี้ก็อยู่อีกไม่ไกลนัก เพราะในปี 2558 ยานนิวเฮอร์ไรซอนส์ จะเดินทางไปถึงดาวพลูโต เมื่อถึงเวลานั้นก็จะได้รู้กันว่าเรื่องนี้เป็นไปได้หรือไม่
สมบัติของน้ำอย่างหนึ่งคือ เมื่ออุณหภูมิลดลงจนถึงถึงจุดเยือกแข็งจะขยายตัวขึ้น และเมื่อเป็นน้ำแข็งแล้ว หากอุณหภูมิลดลงไปอีกจะเริ่มหดลง
ดาวพลูโตมีอุณหภูมิลงลงอย่างช้า ๆ ในช่วงเวลาหลายล้านปีที่ผ่านมา น้ำแข็งที่ขั้วดาวจึงพอกพูนหนาขึ้น หากดาวพลูโตมีมหาสมุทร พื้นผิวจะต้องมีรอยปริแตกให้เห็นซึ่งเกิดจากการขยายตัวของน้ำขณะกลายเป็นน้ำแข็ง รอยปริแตกของน้ำแข็งจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่จะพิสูจน์ว่าใต้ผิวน้ำแข็งของพลูโตมีมหาสมุทรอยู่จริงหรือไม่


ดาวพลูโต (กลางภาพ) และบริวารทั้งสาม คารอน นิกซ์ และ ไฮดรา (จาก Photograph courtesy NASA/ESA/H. Weaver (JHU/APL)/A. Stern (SwRI)/HST Pluto Companion Search Team)


ยานนิวเฮอไรซอนส์ ยานสำรวจดาวพลูโต จะไปถึงเป้าหมายในปี 2558
http://thaiastro.nectec.or.th/news/viewnews.php?newsid=71

พบดาวเคราะห์คล้ายโลกแล้ว แต่..




นับแต่ที่นักดาราศาสตร์ค้นพบเมื่อสองทศวรรษก่อนว่า ดาวฤกษ์ที่มีดาวเคราะห์เป็นบริวารไม่ได้มีแต่เพียงดวงอาทิตย์เท่านั้น ทำให้ความหวังที่จะพบดาวเคราะห์ที่มีสิ่งมีชีวิตนอกเหนือจากโลกของเราได้ทอประกายขึ้นอีกครั้ง
แต่ดาวเคราะห์ส่วนใหญ่ที่นักดาราศาสตร์พบมา ซึ่งจนขณะนี้ก็มีกว่า 500 ดวงแล้ว เกือบทั้งหมดมักเป็นดาวเคราะห์แก๊สยักษ์แบบดาวพฤหัสบดี ซึ่งไม่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นได้ สิ่งที่นักดาราศาสตร์ต้องการหาก็คือ ดาวเคราะห์ที่คล้ายโลก นั่นคือต้องเป็นดาวเคราะห์หิน ไม่ใช่แก๊ส มีขนาดและมวลไม่ต่างจากโลกมากนัก
ด้วยเหตุนี้ โครงการเคปเลอร์ จึงได้เกิดขึ้น เคปเลอร์เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศของนาซา มีหน้าที่ค้นหาดาวเคราะห์แบบโลกที่เป็นบริวารของดาวฤกษ์ดวงอื่น กล้องนี้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อสองปีก่อนด้วยความหวังว่า จะได้พบดาวเคราะห์หินขนาดเล็ก ๆ แบบโลกบ้าง
และแล้วเคปเลอร์ก็ไม่ทำให้แฟน ๆ ต้องผิดหวัง หลังจากการเก็บข้อมูลนานกว่าแปดเดือน ในที่สุดก็ได้พบดาวเคราะห์ดวงใหม่ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นที่มีขนาดเล็กมีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่เคยพบมา ดาวเคราะห์ดวงนี้มีชื่อว่า เคปเลอร์-10 บี (Kepler-10b) อยู่ห่างจากโลกไป 560 ปีแสง มีขนาดประมาณ 1.4 เท่าของโลกเท่านั้น ซึ่งถือว่าใกล้เคียงโลกมากที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นเท่าที่เคยพบมา
แต่ที่ไม่ใกล้เคียงเลยคืออัตราการโคจรรอบดาวฤกษ์ เวลาหนึ่งปีของดาวเคราะห์ดวงนี้ยาวนานเพียง 0.84 วันของโลกเท่านั้นเอง นั่นเพราะดาวดวงนี้มีรัศมีวงโคจรเล็กมาก เล็กกว่ารัศมีวงโคจรของดาวพุธถึง 23 เท่า และด้วยเหตุที่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์มากนี่เอง จึงทำให้มันร้อนมาก อุณหภูมิด้านกลางวันสูงถึง 1,370 องศาเซลเซียส ร้อนพอที่จะหลอมเหล็กได้ แน่นอนว่าไม่ต้องไปถามว่ามีสิ่งมีชีวิตหรือไม่
แม้การค้นพบครั้งนี้ จะไม่ได้ให้ความหวังอะไรเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต แต่ก็ถือว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญยิ่ง เพราะได้แสดงถึงศักยภาพอันโดดเด่นของเคปเลอร์ในการค้นหาดาวเคราะห์ที่มีขนาดใกล้เคียงโลกมากแบบนี้ได้
วิธีการหาดาวเคราะห์ของเคปเลอร์ใช้หลักการที่เรียกว่า การผ่านหน้า เมื่อดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวฤกษ์ จะบดบังแสงจำนวนส่วนหนึ่งไป ซึ่งตรวจจับได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่มีความไวแสงสูงมาก การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงความเข้มแสงจะบอกได้ว่าวัตถุที่มาบังนั้นมีคาบโคจรเท่าใด รวมถึงขนาดและมวลด้วย
เคปเลอร์มีอาวุธเด็ดคือกล้องที่มีเซนเซอร์ซีซีดี 95 เมกะพิกเซล ซึ่งเป็นกล้องที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยขึ้นสู่อวกาศ
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบหลักฐานว่าระบบสุริยะของ เคปเลอร์-10 นี้อาจมีดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งร่วมอยู่ด้วย สมมุติฐานนี้มาจากการพบเหตุการณ์ที่คล้ายกับมีดาวเคราะห์ดวงหนึ่งเคลื่อนผ่านหน้าดาวฤกษ์ทุก 45 วัน ดาวเคราะห์ดวงนี้อาจมีขนาดใหญ่กว่าโลกสองเท่าเศษ แต่หลักฐานส่วนนี้ยังไม่หนักแน่นเท่าดวงแรก

http://thaiastro.nectec.or.th/news/viewnews.php?newsid=74

วัดวันบนเนปจูน

ดาวเนปจูนถูกค้นพบมาตั้งแต่ พ.ศ. 2389 แต่ตลอดเวลากว่าศตวรรษที่ผ่านมา สมบัติพื้นฐานอย่างหนึ่งของดาวฤกษ์ดวงนี้กลับวัดได้ยากเย็นยิ่ง ที่ได้มาได้เพียงตัวเลขหยาบ ๆ เท่านั้น นั่นคือคาบการหมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์
จนเมื่อไม่นานมานี้เองที่นักดาราศาสตร์สามารถวัดคาบการหมุนรอบตัวเองของดาวเนปจูนได้อย่างแม่นยำถึงระดับวินาทีได้เป็นครั้งแรก
การวัดอัตราการหมุนของดาวเคราะห์หินเป็นเรื่องง่าย เพราะมีพื้นผิวแข็ง มีภูมิลักษณ์ให้สังเกตและยึดเป็นจุดอ้างอิงในการวัดได้ แต่ดาวเคราะห์แก๊สทำไม่ได้เพราะพื้นผิวเป็นของไหล ไม่มีจุดอ้างอิงที่ชัดเจน
ย้อนหลังไปในทศวรรษ 1950 นักดาราศาสตร์ทราบว่าดาวพฤหัสบดีแผ่คลื่นวิทยุ ซึ่งเป็นผลมาจากสนามแม่เหล็กที่เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของแกนชั้นในของดาวพฤหัสบดี
ส่วนดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ดวงอื่นได้แก่ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน แตกต่างออกไป เพราะคลื่นวิทยุที่แผ่ออกมาถูกกวาดออกไปเบื้องหลังเนื่องจากอิทธิพลของลมสุริยะ การสำรวจคลื่นวิทยุจากดาวเคราะห์ยักษ์จากบนพื้นโลก จึงทำได้เพียงดาวพฤหัสบดีเท่านั้น
ต่อมาเมื่อถึงยุคของยานวอยเอเจอร์ 1 และ 2 ซึ่งเดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์เหล่านี้ในระยะใกล้ นักดาราศาสตร์จึงทราบคาบการหมุนจากข้อมูลที่ได้จากภารกิจนี้
ถัดจากยุควอยเอเจอร์มากว่าหนึ่งทศวรรษ เข้าสู่ยุคของยานแคสซีนี ยานลำนี้ให้เราได้ทราบว่าคาบการหมุนของดาวเสาร์ในซีกเหนือกับซีกใต้ไม่เท่ากัน นักดาราศาสตร์จึงเข้าใจว่าการใช้รังสีวิทยุจากดาวเคราะห์เป็นตัวชี้วัดอัตราการหมุนรอบตัวเองเป็นวิธีที่ไม่แม่นยำเนื่องจากสนามแม่เหล็กเบี่ยงเบนได้จากลมสุริยะหรือปัจจัยอื่นมารบกวน
ดังนั้นต้องหาวิธีวัดวิธีอื่นมาแทน
เอริค คาร์คอสชกา จากห้องทดลองดาวเคราะห์และดวงจันทร์ของมหาวิทยาลัยแอริโซนา มีแนวคิดใหม่ แทนที่จะเสนอโครงการยานสำรวจมูลค่าพันล้าน เขากลับใช้แหล่งข้อมูลที่หลายคนมองข้ามไป นั่นคือคลังภาพถ่ายดาวเนปจูนที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล
วิธีของเขาก็คือ เพ่ง พินิจพิจารณาภาพถ่าย และเก็บบันทึกทุกรายละเอียด เพื่อหาตำแหน่งที่จะใช้เป็นจุดอ้างอิง ในที่สุดเขาก็พบจุดที่มองเห็นสองจุดและวัดลองจิจูดของจุดนั้นในทุกภาพที่ปรากฏ เทียบกับเวลาที่ถ่ายภาพ จึงได้อัตราการหมุนของดาวเนปจูนมาได้
ตัวเลขที่ดีที่สุดที่ได้มาในขณะนี้คือ 15 ชั่วโมง 57 นาที 59 วินาที
เทคนิคที่เรียบง่ายนี้ กลับให้ผลลัพธ์ที่ดีเลิศอย่างน่าทึ่ง นับเป็นการพัฒนาวิธีการวัดอัตราการหมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์แก๊สที่สำคัญที่สุดในรอบเกือบ 350 ปีนับจากโจวันนี กัสซีนีค้นพบจุดแดงยักษ์บนดาวพฤหัสบดีเลยทีเดียว


ภาพสีแปลงของดาวเนปจูน เพื่อเน้นจุดเด่นบนบรรยากาศ จุดสองจุดที่คาร์โกสชกาใช้ในการสำรวจครั้งนี้คือจุดจาง ๆ สองจุดใกล้ขั้วใต้

Credit: (จาก Erich Karkoschk

http://thaiastro.nectec.or.th/news/viewnews.php?newsid=102

พบเควซาร์ที่ไกลที่สุด

นักดาราศาสตร์นานาชาติคณะหนึ่ง ได้พบหลุมดำยักษ์ที่อยู่ไกลจากโลกมากที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบกันมา หลุมดำที่พบนี้อยู่รูปของเควซาร์ที่ส่องสว่างจากแก๊สที่ไหลพรั่งพรูลงสู่หลุมดำ
เควซาร์นี้มีชื่อว่า ยูลาส เจ 1120+0640 (ULAS J1120+0641) ค้นพบโดยโครงการสำรวจอวกาศห้วงลึกอินฟราเรดยูเคิร์ต (UKIRT Infrared Deep Sky Survey) และจากการเสริมทัพโดยกล้องเจมิไนเหนือที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของมานาเคอา ฮาวาย
แสงจากเควซาร์ที่นักดาราศาสตร์พบในครั้งนี้ เริ่มออกเดินทางจากเควซาร์ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เอกภพมีอายุเพียง 770 ล้านปี หรือเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ของอายุปัจจุบันเท่านั้น
"เป็นเรื่องเข้าใจได้ยากยิ่งว่า หลุมดำที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์นับพันล้านเท่าขนาดนั้น เกิดขึ้นในช่วงที่เอกภพยังอายุน้อยมาก ๆ ได้อย่างไร" แดเนียล มอร์ล็อก จากวิทยาลัยอิมพีเรียลกล่าว
อย่างไรก็ตาม นี่ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่นักวิทยาศาสตร์จะได้วัดสภาพของแก๊สที่แสงจากเควซาร์ส่องผ่านจนมาถึงตาเราได้ เควซาร์นี้เป็นวัตถุที่สว่างกว่าวัตถุอื่นที่อยู่ห่างใกล้เคียงกันหลายร้อยเท่า ดังนั้นเควซาร์นี้จึงอาจบอกเราได้ถึงสภาพของเอกภพยุคต้นได้
นักดาราศาสตร์กระหายใคร่รู้สภาพของแก๊สในเอกภพยุคต้นเป็นอย่างมาก เพราะข้อมูลนี้จะบ่งบอกถึงกลไกการกำเนิดดาวฤกษ์และดาราจักรได้ ทฤษฎีกล่าวว่า แก๊สส่วนใหญ่ในเอกภพคือไฮโดรเจน และเกือบทั้งหมดอยู่ในสภาพเป็นไอออน นั่นคือ อิเล็กตรอนเป็นอิสระต่อโปรตอน นั่นคือสภาพในปัจจุบัน แต่เมื่อมองย้อนอดีตกลับไป จะพบกับยุคที่ไฮโดรเจนอยู่ในสภาพเป็นกลาง นั่นคือนิวเคลียสของไฮโดรเจนตรึงอิเล็กตรอนไว้เป็นอะตอมไฮโดรเจนที่สมบูรณ์ สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นก่อนที่ดาวฤกษ์ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้น หรือเมื่อกว่า 12,000 ล้านปีก่อน
การเปลี่ยนจากยุคไฮโดรเจนเป็นกลางมาสู่ยุคไฮโดรเจนไอออน เรียกว่ายุคการแปลงเป็นไอออน ถือเป็นยุคที่สำคัญยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์เอกภพ แสงจากเควซาร์ที่พบนี้แสดงถึงเอกลักษณ์ของไฮโดรเจนเป็นกลางอยู่ด้วย นั่นหมายความว่าเควซาร์นี้เกิดขึ้นก่อนยุคการแปลงเป็นไอออน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สามารถพิสูจน์ทฤษฎีที่เสนอขึ้นมาตั้งแต่ปี 2541 ได้
"การได้เข้าไปถึงสสารที่อยู่ในรอยต่อสำคัญในประวัติศาสตร์ของเอกภพเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เรานักเอกภพวิทยาได้เพียรพยายามกันมานานแต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก แต่การสำรวจครั้งนี้พาเราก้าวข้ามกำแพงนั้นมาได้แล้ว" ศาสตราจารย์ สตีฟ วาร์เรน หัวหน้าขณะสำรวจนี้กล่าว
หลังจากการค้นพบครั้งแรก ได้มีการสำรวจเควซาร์นี้เสริมโดยกล้องเจมิไนเหนือที่อยู่ใกล้กับกล้องยูเคิร์ต และผลที่ได้ก็ยืนยันในข้อมูลที่ได้จากกล้องยูเคิร์ต
คณะผู้ค้นพบได้วางแผนที่จะเก็บรายละเอียดของเควซาร์ยูลาส เจ 1120+0641 นี้ต่อไป และยังคาดว่าน่าจะพบเควซาร์ที่อยู่ห่างไกลแต่สว่างไสวแบบนี้อีกราว 100 ดวง


เควซาร์ในจินตนาการของศิลปิน เควซาร์ (จาก Gemini Observatory/AURA by Lynette Cook.)

http://thaiastro.nectec.or.th/news/viewnews.php?newsid=103

บริวารใหม่ของพลูโต

นักดาราศาสตร์ค้นพบบริวารดวงใหม่ของดาวพลูโตเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งดวงจากการใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล
ก่อนหน้านี้ดาวพลูโตมีบริวารที่รู้จักเพียงสามดวง ได้แก่ คารอน นิกซ์ และ ไฮดรา นิกซ์กับไฮดราค้นพบในปี 2548 โดยกล้องฮับเบิลเช่นกัน คารอนถูกค้นพบในปี 2521
บริวารดวงใหม่นี้มีชื่อชั่วคราวว่า พี 4 (P4) เป็นดวงที่เล็กที่สุดในบรรดาบริวารทั้งสี่ของพลูโต คาดว่ามีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ในช่วง 13-34 กิโลเมตร เทียบกับบริวารดวงอื่นที่รู้จักก่อนหน้านี้ คารอน มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1,043 กิโลเมตร นิกซ์และไฮดรา มีเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 32-113 กิโลเมตร ส่วนวงโคจรอยู่ระหว่างวงโคจรของนิกซ์กับไฮดรา
ระบบดาวบริวารของพลูโตคาดว่าเกิดจากการพุ่งชนระหว่างพลูโตกับวัตถุขนาดใหญ่ระดับดาวเคราะห์ในช่วงต้นของระบบสุริยะ เศษดาวที่กระจัดกระจายออกจากแรงชนได้รวมตัวกันเป็นบริวารต่าง ๆ ในเวลาต่อมา
ภาพของพี 4 ถูกถ่ายได้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน โดยกล้องมุมกว้างหมายเลข 3 ของฮับเบิล หลังจากนั้นการสำรวจเพิ่มเติมในวันที่ 3 และ 18 กรกฎาคมก็ได้ยืนยันการค้นพบนั้น
พี 4 หลุดรอดสายตาของฮับเบิลมานานเนื่องจากภาพถ่ายพลูโตของฮับเบิลก่อนหน้านี้ใช้เวลาเปิดหน้ากล้องน้อยเกินไป อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบภาพจากฮับเบิลย้อนหลังไปพบว่าภาพหนึ่งที่ถ่ายในปี 2549 ได้ติดภาพของพี 4 อยู่ด้วย แต่ขณะนั้นไม่มีใครสังเกตเห็นเนื่องจากจุดแสงนั้นเลือนลางมาก
การค้นพบครั้งนี้เป็นความบังเอิญ เพราะไม่ได้เกิดจากความพยายามค้นหาบริวาร แต่เกิดจากการค้นหาวงแหวนของพลูโต ซึ่งเป็นการสำรวจเพื่อสนับสนุนภารกิจนิวเฮอไรซอนส์ของนาซา ที่จะไปถึงดาวพลูโตในราวปี 2558
แน่นอนว่าการค้นพบครั้งนี้ย่อมมีผลต่อแผนการสำรวจของนิวเฮอไรซอนส์ด้วย เพราะมีเป้าหมายให้สำรวจมากขึ้นอีกหนึ่งดวงแล้ว

ระบบพลูโต ประกอบด้วยดาวพลูโตและบริวารซึ่งพบแล้ว 4 ดวง ดวงล่าสุดที่พบคือ พี 4 (P4)

ตำแหน่งวงโคจรของบริวารดวงใหม่ อยู่ระหว่างนิกซ์และไฮดรา
http://thaiastro.nectec.or.th/news/viewnews.php?newsid=104

ดวงจันทร์เอนเซลาดัสพ่นน้ำลงสู่ดาวเสาร์

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเฮอร์เชลขององค์การอวกาศยุโรปหรืออีเอสเอ ได้ตรวจพบว่าดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์พ่นน้ำออกมาสู่วงแหวนของดาวเสาร์
การค้นพบนี้ได้ตอบคำถามที่ยืนยาวนานถึง 14 ปีว่าน้ำบนดาวเสาร์มาจากไหน หลังจากที่มีการค้นพบว่าบรรยากาศชั้นบนของดาวเสาร์มีน้ำเป็นส่วนประกอบ
ดวงจันทร์เอนเซลาดัสนับเป็นดวงจันทร์ดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีอิทธิพลทางเคมีต่อดาวเคราะห์แม่
ดวงจันทร์เอนเซลาดัสพ่นไอน้ำจำนวนประมาณ 250 กิโลกรัมทุกวินาทีออกมาทางขั้วใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีรอยแตกขนาดใหญ่บนพื้นผิวที่นักดาราศาสตร์เรียกกันว่า "ลายพาดกลอน" ของเอนเซลาดัส ซึ่งเรียกตามลักษณะที่เป็นเส้นหลายเส้นขนานกัน
ไอน้ำที่พ่นออกมาได้ก่อรูปเป็นเมฆไอน้ำขนาดมหึมารูปโดนัทล้อมรอบดาวเสาร์ โดนัทนี้กว้างใหญ่กว่ารัศมีของดาวเสาร์ถึงกว่า 10 เท่า แต่มีความหนาประมาณรัศมีของดาวเสาร์เท่านั้น เอนเซลาดัสโคจรรอบดาวเสาร์โดยอยู่ห่างจากดาวเสาร์ประมาณเท่ากับ 4 เท่าของรัศมีดาวเสาร์เอง พร้อมกับพ่นน้ำเป็นพวยออกมาเติมให้แก่ก้อนเมฆนี้ตลอดเวลา
แม้เมฆรูปโดนัทนี้จะมีขนาดใหญ่โตมหึมา แต่ไม่มีใครเคยตรวจพบก้อนเมฆนี้มาก่อนเลย เนื่องจากไอน้ำโปร่งใสในย่านแสงที่ตามองเห็น แต่มองเห็นได้ในย่านรังสีอินฟราเรดที่กล้องเฮอร์เชลรับรู้ได้
นักดาราศาสตร์พบน้ำในบรรยากาศของดาวเสาร์เป็นครั้งแรกในปี 2540 โดยกล้องไอเอสโอขององค์การอีซา ในครั้งนั้นได้ทำให้นักดาราศาสตร์ต่างงุนงงว่าน้ำนั้นมาจากไหน จนกระทั่งเฮอร์เชลค้นพบเบาะแสคำตอบในครั้งนี้ จากการสร้างแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์เผยว่าน้ำประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ที่พ่นออกมาจากเอนเซลาดัสจะตกลงสู่ดาวเสาร์ แม้จะเป็นส่วนน้อย แต่ก็ถือว่าเป็นปริมาณที่มากพอจะอธิบายถึงแหล่งที่มาของน้ำที่พบบนดาวเสาร์ได้ ไอน้ำที่ส่วนที่เหลือบางส่วนจะลอยออกไปในอวกาศ บางส่วนจะคงอยู่ในวงแหวน และบางส่วนก็ตกลงไปบนดวงจันทร์ดวงอื่นด้วย


ไอน้ำพ่นออกมาจากขั้วใต้ของเอนเซลาดัส (จาก ESA)


วงแหวนอี ของดาวเสาร์ ก็เกิดจากดวงจันทร์เอนเซลาดัสเหมือนกัน (จาก NASA/JPL/Space Science Institute)

อ้างอิงจาก สมาคมดาราศาสตร์ไทย

กาลครั้งหนึ่ง โลกมีดวงจันทร์สองดวง

ลองนึกดูว่า หากโลกเรามีดวงจันทร์สองดวง แทนที่จะเป็นดวงเดียวอย่างในปัจจุบัน ท้องฟ้ายามค่ำคืนคงดูแปลกพิลึกและแตกต่างไปจากท้องฟ้าที่เราคุ้นเคยไปอย่างสิ้นเชิง
นักดาราศาสตร์พบว่า สภาพดังกล่าวอาจเคยเกิดขึ้นจริงมาแล้ว แต่บรรพบุรุษของเราคงไม่มีโอกาสได้เห็นดวงจันทร์สองดวงบนท้องฟ้า เพราะภายในเวลาไม่กี่สิบล้านปีหลังจากที่โลกได้กำเนิดขึ้น นานก่อนที่จะมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นบนโลก บริวารสองดวงนั้นได้ชนกันและผนึกกันเป็นดวงเดียว กลายเป็นดวงจันทร์หนึ่งเดียวที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน คาดว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 4.5 พันล้านปีก่อน
สมมุติฐานดวงจันทร์สองดวงนี้เกิดขึ้นเพื่ออธิบายถึงสาเหตุที่ดวงจันทร์มีลักษณะแตกต่างกันมากในแต่ละด้าน ดวงจันทร์ด้านที่หันเข้าหาโลกที่เราคุ้นเคยกันมานานนับพันปีเต็มไปด้วยที่ราบต่ำที่เคยท่วมด้วยลาวาซึ่งปรากฏเป็นพื้นที่สีคล้ำหลายแห่งดังที่หลายคนมักมองเห็นเป็นรูปกระต่ายนั่นเอง ส่วนด้านตรงข้ามที่หันออกจากโลกกลับเต็มไปด้วยภูเขาสูงระเกะระกะ ตามสมมุติฐานนี้ ภูเขาสูงที่อยู่ในด้านไกลของดวงจันทร์นั้นคือส่วนที่เหลือจากการชนของบริวารดวงเล็กที่เคยโคจรรอบโลก การชนนี้ จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่พิเศษอย่างยิ่ง นั่นคือต้องช้าพอที่จะทำให้บริวารดวงเล็กแตกและแผ่ออกปกคลุมพื้นผิวของบริวารดวงใหญ่ไปทั้งซีก แทนที่จะเจาะเข้าไปในพื้นผิวและทิ้งแผลจากการชนเป็นหลุมใหญ่ไว้ให้เห็น

การจำลองการชนระหว่างบริวารของโลกสองดวงที่อาจเคยเกิดขึ้นเมื่อหลายพันล้านปีก่อน เหตุการณ์นี้อาจเป็นสาเหตุของการที่ดวงจันทร์ของโลกมีสภาพที่แตกต่างกันมากระหว่างด้านใกล้และด้านไกล





"เมื่อคุณคิดถึงวัตถุสองชิ้นชนกัน ก็มักจะนึกถึงหลุมขนาดใหญ่บนดวงที่ใหญ่กว่าที่เกิดจากการชน" เอริก แอสฟอก นักดาราศาสตร์ดาวเคราะห์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ ซานตาครูซ หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยเจ้าของทฤษฎีนี้กล่าว "ที่ความเร็วพุ่งชนที่ต่ำระดับหนึ่ง ผลของการชน จะเป็นการพอกเนื้อดาวแทน" สภาพทางกายภาพของการชนจะคล้ายกับการชนของของเหลวมากกว่าของแข็ง
"เหมือนเอาก้อนขี้ควายเขวี้ยงลงพื้นยังไงอย่างงั้น" แอสฟอกเปรียบเปรย
ตัวดวงจันทร์เองก็เกิดจากการชนเหมือนกัน สมมุติฐานเกี่ยวกับต้นกำเนิดดวงจันทร์ที่เป็นที่ยอมรับกันมากที่สุดอธิบายว่า โลกเคยถูกวัตถุขนาดเท่าดาวอังคารพุ่งชนด้วยความเร็วสูง แรงชนได้สาดเศษเนื้อดาวกระจายออกไปเป็นวงแหวนรอบโลก ต่อมาเศษดาวที่รายล้อมโลกนั้นได้รวมกันเป็นก้อนใหญ่ใหญ่ขึ้นเป็นดาวบริวารดวงเล็กดวงน้อยโคจรรอบโลก แต่ระบบบริวารที่เกิดขึ้นใหม่นี้ไม่เสถียร บริวารดวงจ้อยที่เพิ่งก่อตัวขึ้นต้องพบจุดจบในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยการตกลงสู่โลกหรือไม่ก็ต้องเข้าชนกับบริวารดวงที่ใหญ่กว่า แต่มีบางตำแหน่งในวงโคจรที่มีความเสถียรมากกว่า ดังที่รู้จักกันในชื่อจุดทรอย นั่นคือจุดที่อยู่ในวงโคจรของโลกสองจุด จุดหนึ่งอยู่นำหน้าโลก อีกจุดหนึ่งตามหลังโลก บริวารที่อยู่บริเวณสองจุดนี้จะคงอยู่ได้นานก่อนที่จะถูกชน ซึ่งอาจนานถึงหลายสิบล้านปี
แบบจำลองที่พัฒนาขึ้นโดยแอสฟอกและมาร์ติน จัตซี แสดงว่า เมื่อถึงเวลานั้น ดวงจันทร์น้อยสองดวงที่มีขนาดต่างกัน ได้วิวัฒน์มาในระดับหนึ่งแล้ว แต่อยู่ในระยะที่ต่างกันมาก ดวงหนึ่งมีขนาดราวหนึ่งในสามของของดวงจันทร์ปัจจุบัน ได้เย็นตัวและเป็นวัตถุแข็งไปแล้ว ส่วนอีกดวงหนึ่งที่ใหญ่กว่ายังคงมีพื้นผิวที่เต็มไปด้วยลาวาอยู่ เมื่อชนกันด้วยความเร็วหนึ่ง เนื้อของบริวารดวงเล็กไปพอกที่บริวารดวงใหญ่ด้านหนึ่ง และยังไปดันแมกมาให้ไปกองอยู่ที่ด้านตรงข้าม
สมมุติฐานนี้ไม่เพียงแต่อธิบายถึงที่มาของสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างกันอย่างมากในแต่ละด้านของดวงจันทร์เท่านั้น หากยังอธิบายถึงองค์ประกอบทางเคมีที่ต่างกันด้วย จากตัวอย่างหินดวงจันทร์ที่เก็บมาโดยนักบินอวกาศจากโครงการอะพอลโลหลายแห่งในด้านใกล้ของดวงจันทร์ พบว่าหินเหล่านี้มีสารจำพวกที่เรียกว่า ครีป (KREEP) ซึ่งประกอบด้วย โพแทสเซียม ฟอสเฟอร์รัส และธาตุหายากบนโลกอีกบางอย่างอยู่เป็นจำนวนมาก สารครีปจะต้านการตกผลึกของแมกมา จึงทำให้แมกมาคงสภาพอยู่เป็นของเหลวได้จนกระทั่งทะเลแมกมาทั่วทั้งผืนเย็นลงและกลายเป็นหินแข็ง ต่างจากด้านไกลของดวงจันทร์กลับมีครีปอยู่น้อย ซึ่งการชนและดันแมกมาของบริวารดวงเล็กอธิบายถึงที่มาของความแตกต่างนี้ได้
ในเดือนกันยายนนี้ องค์การนาซาจะปล่อยยานสำรวจดวงจันทร์ลำใหม่ชื่อ เกรล (GRAIL--Gravity Recovery and Interior Laboratory) ยานลำนี้จะทำแผนที่สนามความโน้มถ่วงของดวงจันทร์เพื่อแสดงความผันแปรของความหนาแน่นบริเวณพื้นผิว บางทีภารกิจของเกรลอาจจะพิสูจน์สมมุติฐานนี้ได้ว่า โลกเคยมีดวงจันทร์สองดวงจริงหรือไม่


ภาพดวงจันทร์ด้านใกล้ (ซ้าย) และด้านไกล (ขวา) ถ่ายโดยยานเคลเมนไทน์ แสดงถึงสภาพทางภูมิประเทศของสองด้านที่แตกต่างกันอย่างมาก

อ้างอิง สมาคมดาราศาสตร์ไทย

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ซากซุปเปอร์โนวา SN1987A

       เศษซากของซุปเปอร์โนวา 1987A กำลังเริ่มชนกับวงแหวนก๊าซรอบข้างสร้างเป็นคลื่นกระแทกทรงพลังที่เปล่งรังสีเอกซ์ออกมาซึ่งสำรวจได้โดยหอสังเกตการณ์รังสีเอกซ์จันทรา รังสีเอกซ์กำลังอาบไล้เศษซากซุปเปอร์โนวาและความร้อนจากการกระแทกกำลังทำให้มันเรืองในช่วงตาเห็นได้


    นักวิจัยพบว่าซุปเปอร์โนวาใหม่แห่งหนึ่งกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อกลายเป็นซากซุปเปอร์โนวา
ในปี 1987 แสงจากดาวที่ระเบิดดวงหนึ่งในกาแลคซีเพื่อนบ้านแห่งหนึ่งคือ เมฆแมกเจลแลนใหญ่(Large Magellanic Cloud) ได้มาถึงโลก มันมีชื่อว่าซุปเปอร์โนวา 1987A เป็นการเกิดซุปเปอร์โนวาที่ใกล้ที่สุด(ที่ 165,000 ปีแสง) เท่าที่เคยสังเกตพบในรอบเกือบ 400 ปี ช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้ศึกษามันในรายละเอียดเมื่อมันพัฒนาตัวไปด้วย
     และขณะนี้ทีมนักดาราศาสตร์ได้ประกาศว่าซุปเปอร์โนวาซึ่งจางแสงลงตามเวลากำลังสว่างขึ้น สิ่งนี้แสดงถึงแหล่งพลังงานที่แตกต่างออกไปได้เริ่มสาดแสงใส่ซาก และกลายเป็นการเปลี่ยนผ่านจากซุปเปอร์โนวาไปเป็นซากซุปเปอร์โนวา(supernova remnant) Robert Kirshner จากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ดสมิธโซเนียน(CfA) กล่าวว่า ซุปเปอร์โนวา 1987A กลายเป็นซากซุปเปอร์โนวาที่มีอายุน้อยที่สุดที่เราได้เห็น งานวิจัยเผยแพร่ในวารสาร Nature วันที่ 9 มิถุนายน
     Kirshner นำทีมศึกษา SN1987A ระยะยาวด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลของนาซ่า ตั้งแต่มันถูกส่งออกสู่อวกาศในปี 1990 ฮับเบิลก็ได้บันทึกการเปลี่ยนแปลงของ SN1987A อย่างต่อเนื่อง ตามที่ปรากฏในภาพ SN1987A ถูกล้อมด้วยวงแหวนวัสดุสารที่ดาวต้นกำเนิดซุปเปอร์โนวาได้เป่าออกมาเมื่อหลายพันปีก่อนหน้าการระเบิด วงแหวนนี้มีขนาดกว้างประมาณ 1 ปีแสง ภายในวงแหวนนั้น ไส้ในของดาวฤกษ์กำลังวิ่งหนีออกมาในเมฆเศษซากที่ขยายตัว
     แสงของซุปเปอร์โนวาเกือบทั้งหมดมาจากการสลายตัวธาตุกัมมันตรังสีที่ถูกสร้างในการระเบิด ด้วยเหตุผลนี้ มันจึงจางแสงไปตามเวลา อย่างไรก็ตาม เศษซากจาก SN 1987A ได้เริ่มสว่างขึ้น ซึ่งบอกว่ามีแหล่งพลังงานใหม่มาทดแทน Kirshner กล่าวว่า ที่มองเห็นว่ามันสว่างขึ้นก็เพียงเพราะ SN 1987A อยู่ใกล้มากและฮับเบิลก็มีสายตาที่คมมากๆ
    ซากซุปเปอร์โนวาแห่งหนึ่งๆ จะประกอบด้วยวัสดุสารที่ถูกผลักออกจากดาวที่ระเบิด เช่นเดียวกับวัสดุสารในอวกาศที่มันกวาดมาด้วย เศษซากของ SN 1987A เริ่มจะปะทะกับวงแหวนรอบข้าง สร้างคลื่นกระแทกทรงพลังที่ผลิตรังสีเอกซ์ที่สำรวจได้โดยหอสังเกตการณ์รังสีเอกซ์จันทราของนาซ่า รังสีเอกซ์เหล่านั้นได้อาบแสงไปที่เศษซากของซุปเปอร์โนวาและความร้อนจากการกระแทกก็ทำให้มันเรืองขึ้น กระบวนการเดียวกันนี้ให้พลังงานกับซากซุปเปอร์โนวาอื่นๆ ในกาแลคซีของเราอย่าง แคสสิโอเปีย เอ(Cassiopeia A)
     เนื่องจากมันยังอายุน้อยมาก ซากของ SN 1987A จึงยังแสดงประวัติเมื่อหลายพันปีสุดท้ายของชีวิตดาวฤกษ์ที่บันทึกไว้ในปม(knots) และขด(whorls) ก๊าซ โดยการศึกษาสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้น นักดาราศาสตร์อาจจะถอดรหัสความเป็นมาได้ ซากซุปเปอร์โนวาอายุน้อยมีลักษณะพิเศษ Kirshner บอก
     แม้ต่อมา ความเป็นมาจะสูญหายไปเมื่อเศษซากดาวที่กำลังขยายตัวทั้งปวงได้ชนกับวงแหวนรอบๆ และสลายมันทิ้งไป แต่กว่าจะถึงตอนนั้น SN 1987A ยังคงให้โอกาสพิเศษให้การเฝ้าดูเทหวัตถุดวงหนึ่งเปลี่ยนแปลงในช่วงชีวิตของมนุษย์ มีเทหวัตถุอีกเพียงไม่กี่แห่งที่พัฒนาไปได้ในช่วงเวลาที่สั้นเช่นนี้




ร่อนลงสู่ดาวอังคารด้วยเจ็ท

       องค์การนาซ่าเผยแพร่ภาพแอนิเมชั่น จำลองการลงจอดของยานสำรวจดาวอังคาร ในโครงการ ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์บนดาวอังคารหรือ MSL (Mars Science Laboratory) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา ภาพแอนิเมชั่นถูกสร้างขึ้นโดยใช้ฉากจากสถานที่จริง ซึ่งได้มาจากหุ่นยนต์ที่ส่งไปสำรรวจดาวอังคารในโครงการก่อนหน้านี้ โดยในแอนิเมชั่นได้จำลองตั้งแต่ยานเริ่มหลุดออกจากชั้นบรรยากาศของโลก จนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารและเน้นไปที่การปล่อยหุ่นยนต์สำรวจ “Curiosity” ลงสัมผัสพื้นดาวอังคาร ซึ่งการลงจอดในครั้งนี้จะแตกต่างจากโครงการก่อนหน้าโดยใช้จรวดขับดันในการพยุงตัว ก่อนจะปล่อยหุ่นยนต์ Curiosity สัมผัสพื้นดาวอังคารอย่างนุ่มนวล
    โครงการห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ดาวอังคารของนาซ่า  มีกำหนดปล่อยหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารออกสู่อวกาศในช่วงปลายปี 2554 ที่ฐานปล่อยจรวดในรัฐฟลอริดา และมีกำหนดถึงดาวอังคารในเดือนสิงหาคม 2555 โดยมีภารกิจในการเดินสำรวจและเก็บข้อมูลจากตัวอย่างหินและดินบนดาวอังคารเป็นระยะเวลา 2 ปี การวิเคราะห์ตัวอย่างจะเกิดขึ้นที่โมดูลบนหุ่นยนต์จากนั้นจะส่งข้อมูลกลับมายังศูนย์ปฏิบัติการจรวดขับดัน (Jet Propulsion Laboratory, JPL) ที่เมืองพาซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย


ซูเปอร์โนวาแบบใหม่ สว่างกว่าแบบอื่น 10 เท่า

6 ก.ค. 2554 รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย ()           นักดาราศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย ได้ค้นพบซูเปอร์โนวาชนิดใหม่ ที่มีความสว่างกว่าซูเปอร์โนวาทั่วไปถึง 10 เท่า 
          ย้อนหลังไปเมื่อปี 2550 รอเบิร์ต ควิมบี จากมหาวิทยาลัยเทกซัส ณ ออสติน ได้ค้นพบซูเปอร์โนวาดวงหนึ่ง มีความส่องสว่างกว่าดวงอาทิตย์ถึงหนึ่งแสนล้านเท่า และส่องสว่างกว่าซูเปอร์โนวาทั่วไป 10 เท่า ต่อมาได้ชื่อว่า 2005 เอพี (2005AP) ไม่เพียงแต่ความสว่างที่ผิดปกติแล้ว เมื่อศึกษาสเปกตรัมของซูเปอร์โนวานี้ยังพบความน่าพิศวงยิ่งกว่า เพราะไม่ปรากฏว่ามีร่องรอยของไฮโดรเจนอยู่เลย ทั้งที่ไฮโดรเจนเป็นธาตุที่ปกติมีอยู่มากมายในซูเปอร์โนวาเกือบทั้งหมด
          ในเวลาใกล้เคียงกัน นักดาราศาสตร์อีกคณะหนึ่งได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ค้นพบซูเปอร์โนวาอีกดวงหนึ่ง ชื่อ เอสซีพี 06 เอฟ (SCP 06F6) ซึ่งก็มีสเปกตรัมแปลกประหลาดเช่นเดียวกัน 
          ต่อมา ควิมบีได้มาอยู่ในโครงการพีทีเอฟ (PTF-Palomar Transient Factory) ซึ่งเป็นโครงการค้นหาแสงสว่างวาบสั้นบนท้องฟ้า ส่วนใหญ่ของแสงวาบนี้เป็นซูเปอร์โนวา โครงการนี้ใช้กล้องแซมูเอลออสชิน 1.2 เมตรของหอดูดาวพาร์โลมาเป็นเครื่องมือในการสำรวจ ที่นี่เขาได้พบซูเปอร์โนวาใหม่อีกสี่ดวง หลังจากที่ศึกษาเพิ่มเติมโดยกล้องเคกขนาด 10 เมตร กล้อง 5.1 เมตรของหอดูดาวพาร์โลมา และกล้องวิลเลียมเฮอร์เชลขนาด 4.2 เมตรบนหมู่เกาะคะเนรี ยืนยันว่า ซูเปอร์โนวาทั้งสี่นี้มีสเปกตรัมไม่ธรรมดาทั้งสิ้น และมีความคล้ายคลึงกับสเปกตรัมของ 2005 เอพีที่ค้นพบก่อนหน้านี้ สรุปได้ว่าซูเปอร์โนวาที่พบทั้งหกดวงนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน มีสีค่อนไปทางน้ำเงิน ส่องสว่างที่สุดในย่านอัลตราไวโอเลต 
          ซูเปอร์โนวา 2005 เอพี อยู่ห่างจากโลก พันล้านปีแสง ส่วนซูเปอร์โนวา เอสซีพี 06 เอฟ อยู่ห่าง พันล้านปีแสง ทั้งคู่อยู่ในดาราจักรแคระที่มีดาวฤกษ์ประมาณไม่กี่พันล้านดวงเท่านั้น
          แม้นักดาราศาสตร์จะจัดกลุ่มซูเปอร์โนวากลุ่มนี้เป็นชนิดเดียวกันได้ แต่ก็ยังมีคำถามอีกหลายคำถามที่ตอบไม่ได้ เช่น เหตุใดมันจึงร้อนถึง 10,000-20,000 เคลวิน มันขยายตัวด้วยความเร็วถึง 10,000 กิโลเมตรต่อวินาทีได้อย่างไร เหตุใดจึงไม่มีสเปกตรัมของไฮโดรเจน และมันส่องสว่างมองเห็นได้นานถึง 50 วันซึ่งนานกว่าซูเปอร์โนวาส่วนใหญ่มากได้อย่างไร 
          ทฤษฎีหนึ่งอธิบายว่า ซูเปอร์โนวานี้อาจเกิดจากดาวแปรแสงแบบกระเพื่อมที่มีมวลมาก 90-130 เท่าของดวงอาทิตย์ การกระเพื่อมของดาวได้ผลักเนื้อดาวชั้นนอกที่ปราศจากไฮโดรเจนออกมา ต่อมาเมื่อดาวนั้นหมดเชื้อเพลิงและระเบิดออกเป็นซูเปอร์โนวา การระเบิดได้เผาเนื้อดาวชั้นนอกที่ดาวผลักออกมาก่อนหน้านี้จนร้อนจัดและสว่างไสวอย่างที่สำรวจพบเห็น
          อีกทฤษฎีหนึ่งอธิบายว่า เกิดจากซูเปอร์โนวาที่หลังจากระเบิดไปแล้วเหลือแกนกลางที่ดาวแม่เหล็ก (magnetar) ซึ่งเป็นดาวที่หมุนรอบตัวเองเร็วมากและมีสนามแม่เหล็กเข้มข้นมาก สนามแม่เหล็กที่หมุนรอบตัวดาวได้หน่วงให้ดาวแม่เหล็กหมุนช้าลงในขณะที่ทำอันตรกิริยากับอนุภาคปะจุไฟฟ้าโดยรอบพร้อมทั้งปล่อยพลังงานออกมา พลังงานนี้ทำให้แก๊สจากเปลือกดาวที่ถูกเป่ากระเด็นออกมาจากซูเปอร์โนวาร้อนขึ้นมามากจนมีความสว่างมากตามที่ปรากฏ
นักดาราศาสตร์หวังว่า การศึกษาซูเปอร์โนวาพวกนี้ยังช่วยให้เข้าใจสภาพของดาวฤกษ์ในยุคเริ่มต้นของเอกภพอีกด้วย เนื่องจากมันเป็นซูเปอร์โนวาที่เกิดจากดาวฤกษ์ที่มีมวลสูงมาก ซึ่งนักดาราศาสตร์เชื่อว่าเป็นลักษณะของดาวฤกษ์ดวงแรก ๆ ในเอกภพ


ที่มา  http://thaiastro.nectec.or.th/news/viewnews.php?newsid=101

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

*_ดาวเคราะห์เร่ร่อน_*

ภาพจากศิลปินแสดงดาวเคราะห์เร่ร่อนซึ่งมีมวลใกล้เคียงกับดาวพฤหัส พิภพที่โดดเดี่ยวเหล่านี้อาจจะถูกผลักออกจากระบบดาวเคราะห์ที่พวกมันกำเนิดนั้น อาจจะมีอยู่มากกว่าจำนวนดาวฤกษ์ในกาแลคซีของเรา


      ขณะที่ดาวเคราะห์นอกระบบในกลุ่มนี้บางส่วนน่าจะเคยโคจรรอบดาวฤกษ์เมื่อนานมาแล้ว แต่ส่วนใหญ่น่าจะไม่เคยมีดาวฤกษ์เลย และพิภพที่ประหลาดเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นส่วนน้อย พวกมันน่าจะมีจำนวนมากกว่าดาวเคราะห์ปกติที่มีดาวฤกษ์แม่อย่างน้อย 50% และน่าจะมีเป็นจำนวนเกือบสองเท่าของจำนวนดาวฤกษ์วิถีหลักในกาแลคซีของเรา   นักดาราศาสตร์เคยทำนายการมีอยู่ของดาวเคราะห์ต่างด้าวที่ล่องลอยอย่างอิสระมานานแล้ว แต่จำนวนที่มีมากได้สร้างความประหลาดใจให้กับนักวิจัยหลายๆ คนและน่าจะผลักดันให้ต้องกลับมาคิดว่าดาวเคราะห์เกิดขึ้นได้อย่างไร Takahiro Sumi ผู้เขียนนำการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ญี่ปุ่น กล่าวว่า การสำรวจดาวเคราะห์ที่ยึดกับระบบก่อนหน้านี้บอกเราแต่เพียงสิ่งที่อยู่รอดในวงโคจรในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม การค้นพบเหล่านี้ได้บอกเราว่ามีดาวเคราะห์มากน้อยแค่ไหนที่ก่อตัวขึ้นและกระจายออกไป
       Sumi และเพื่อนร่วมงานสร้างการค้นพบโดยใช้วิธีการที่เรียกว่า ไมโครเลนซิงความโน้มถ่วง(gravitational microlensing) ซึ่งเฝ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีวัตถุขนาดใหญ่ดวงหนึ่งผ่านหน้าดาวฤกษ์จากแนวสายตาของเรา วัตถุใกล้เคียงจะบิดเบนและขยายแสงจากดาวไกลโพ้น ทำหน้าที่เสมือนเป็นเลนส์ สิ่งนี้สร้างกราฟแสงซึ่งจะแสดงแสงดาวฤกษ์ที่สว่างขึ้นและมืดลงตามเวลา ซึ่งคุณลักษณะของกราฟจะบอกนักดาราศาสตร์ได้ไม่น้อยเกี่ยวกับขนาดของวัตถุพื้นหน้า ในหลายๆ กรณี วัตถุใกล้อาจเป็นดาวฤกษ์ ถ้ามันมีดาวเคราะห์ที่โคจรรอบๆ อยู่ ก็จะสร้างกราฟแสงทุติยภูมิ เตือนนักวิจัยถึงการมีอยู่ของดาวเคราะห์   ก่อนการศึกษางานปัจจุบัน นักดาราศาสตร์ได้ใช้เทคนิคไมโครเลนซิงความโน้มถ่วงเพื่อค้นพบดาวเคราะห์ต่างด้าวเพียงสิบกว่าดวงจากจำนวนเกือบ 550 ดวงที่ค้นพบ(ปฏิบัติการเคปเลอร์ของนาซ่าได้ตรวจพบว่าที่ดาวเคราะห์ 1235 ดวงโดยวิธีการที่แตกต่างออกไป แต่ยังคงต้องรอยืนยันจากการสำรวจติดตามผล)
        Sumi และทีมมองดูข้อมูลที่กินเวลา 2 ปีจากกล้องโทรทรรศน์ตัวหนึ่งในนิวซีแลนด์ซึ่งจับตาดูดาวฤกษ์ 50 ล้านดวงในใจกลางทางช้างเผือกเพื่อหาเหตุการณ์ไมโครเลนซิง พวกเขาได้จำแนกเหตุการณ์ 474 เรื่องรวมทั้ง 10 เรื่องที่เกิดขึ้นในเวลาไม่ถึงสองวัน ช่วงเวลาที่สั้นของทั้งสิบเหตุการณ์นั้นบ่งชี้ว่าวัตถุพื้นหน้าในแต่ละกรณีไม่ใช่ดาวฤกษ์ แต่เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดเท่าดาวพฤหัส และไม่พบสัญญาณของดาวฤกษ์แม่เลย การสำรวจที่ทำโดยกล้องโทรทรรศน์ในชิลีได้สนับสนุนการค้นพบนี้ บอกว่า ดาวเคราะห์ 10 ดวงโคจรอยู่ห่างจากดาวฤกษ์แม่มากๆ (มากกว่า 10 AU) หรือไม่มีดาวฤกษ์แม่อยู่เลย พวกมันทั้งสิบอยู่ที่ระยะทางเฉลี่ย 1 หมื่นถึง 2 หมื่นปีแสงจากโลกการเกิดไมโครเลนซิงความโน้มถ่วงเป็นสิ่งที่พบได้ยากเนื่องจากพวกมันต้องการการเรียงตัวอย่างแม่นยำระหว่างดาวฤกษ์พื้นหลัง, วัตถุพื้นหน้ามวลสูง และโลก ดังนั้นการค้นพบเหตุการณ์ทั้งสิบในช่วง 2 ปีบอกว่ามีประชากรกลุ่มใหญ่ของดาวเคราะห์นอกระบบที่มีมวลเท่าดวงพฤหัสซึ่งไม่ได้อยู่กับระบบหรืออยู่ห่างไกลจากระบบทั่วทั้งกาแลคซี Sumi และทีมคำนวณว่าดาวเคราะห์เหล่านี้น่าจะมีมากเป็นสองเท่าของจำนวนดาวฤกษ์วิถีหลัก(main-sequence star) ในกาแลคซีทางช้างเผือกของเรา และพวกมันก็น่าจะมีจำนวนมากกว่าดาวเคราะห์ปกติ(ที่มีดาวฤกษ์แม่) มากกว่า 50%
การสำรวจไม่ได้ไวต่อดาวเคราะห์ที่มีขนาดเล็กกว่าดาวพฤหัสและดาวเสาร์ แต่ทฤษฎีบอกว่าดาวเคราะห์ที่มีมวลเบากว่าอย่างโลก ควรจะถูกผลักออกจากดาวฤกษ์แม่ของพวกมันได้บ่อยกว่า ด้วยเหตุนี้ จึงคิดว่าดาวเคราะห์มวลเบาน่าจะมีมากกว่าดาวพฤหัสที่ล่องลอยอิสระ   การศึกษางานอื่นยังบอกว่าเป็นไปได้ยากที่ดาวเคราะห์ยักษ์จะโคจรรอบดาวฤกษ์แม่ด้วยระยะทางที่ไกลกว่า 10 AU ดังนั้นทีมวิจัยจึงบอกว่าดาวเคราะห์มวลดาวพฤหัสเกือบทั้งหมด(อย่างน้อยประมาณ 75%) น่าจะเป็นพวกเร่ร่อน ล่องลอยในอวกาศโดยไม่ยึดติดกับดาวฤกษ์ใด    ทฤษฎีทำนายว่าพวกเร่ร่อนมีอยู่ทั่วกาแลคซี และนักวิจัยคนอื่นๆ ก็พบหลักฐานของวัตถุอิสระที่แท้จริงแล้วอาจจะเป็นดาวเคราะห์ในวัยเยาว์ แต่พิภพเหล่านี้มีขนาดใหญ่กว่าตั้งแต่ 3 ถึง 10 เท่ามวลดาวพฤหัส และยังมีความไม่แน่นอนในการตรวจวัด การตรวจพบหลายๆ ครั้งก่อนหน้านี้แท้จริงแล้วเป็นดาวฤกษ์แท้งที่เรียกว่าดาวแคระน้ำตาล Sumi และเพื่อนร่วมงานรายงานผลสรุปในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 19 พฤษภาคม
ดาวเคราะห์เร่ร่อนที่เพิ่งพบใหม่นี้ อาจจะก่อตัวอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์แม่ จากนั้นก็ถูกผลักออกจากระบบสุริยะของพวกมันโดยอิทธิพลแรงโน้มถ่วงกับดาวเคราะห์ยักษ์เพื่อนบ้าน จริงๆ แล้วปฏิสัมพันธ์ดาวเคราะห์-ดาวเคราะห์เช่นนี้ส่งผลให้เกิดวงโคจรประหลาดที่แนบชิดของดาวเคราะห์กลุ่มที่เรียกว่า ดาวพฤหัสร้อน    ปริมาณของพิภพที่ไร้ดาวฤกษ์ดูจะทำให้นักดาราศาสตร์ต้องกลับมาคิดใหม่ถึงแนวความคิดบางอย่างเกี่ยวกับการก่อตัวดาวเคราะห์ Sumi กล่าวว่า ทฤษฎีก่อตัวดาวเคราะห์ปัจจุบันที่ยอมรับมากที่สุด(แบบจำลองสะสมแกนกลาง) ไม่สามารถสร้างดาวเคราะห์ยักษ์ได้มากมาย ดังนั้นเราต้องการทฤษฎีที่แตกต่างออกไปเพื่อสร้างดาวเคราะห์ยักษ์ให้ได้มากๆ อย่างเช่น แบบจำลองความไร้เสถียรความโน้มถ่วง(gravitational instability model)
        ในแบบจำลองแบบสะสมแกนกลาง ฝุ่นเกาะตัวสร้างแกนกลางแข็งขึ้น ซึ่งต่อมาก็สะสมก๊าซไว้รอบๆ กลายเป็นดาวเคราะห์ แบบจำลองความไร้เสถียรความโน้มถ่วงบอกถึงการยุบตัวอย่างรวดเร็วของก๊าซ โดยแกนกลางก่อตัวขึ้นในภายหลังเนื่องจากการตกตะกอน  การศึกษาใหม่น่าจะต่อยอดให้เกิดงานวิจัยติดตามผลหลายชิ้น หนึ่งในก้าวต่อไปก็คือการฝึกให้เครื่องมืออื่นหาดาวเคราะห์ไมโครเลนซิง เพื่อที่จะจับตาดูพวกมันเพื่อหาสัญญาณของดาวฤกษ์แม่ต่อไป งานลักษณะดังกล่าวซึ่งต้องใช้เวลาหลายปี น่าจะเผยให้เห็นว่ามีพิภพมากน้อยแค่ไหนที่มีดาวฤกษ์แม่ และอีกมากน้อยแค่ไหนที่เร่ร่อน Joachim Wambsganss นักดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยไฮเดลแบร์ก เขียนในบทความที่เกี่ยวข้องเสนอในวารสาร Nature ว่า ความสำคัญของการค้นพบนี้กว้างขวาง เรามีเงื่อนงำใหม่ของประชากรมวลดาวเคราะห์กลุ่มใหม่ในกาแลคซีของเรา ขณะนี้เราต้องขุดคุ้ยคุณสมบัติ, การกระจาย,

สภาพพลวัติและที่มาของพวกมัน:http://www.darasart.com/

*_Too Much So Much Very Much_*






http://www.youtube.com/watch?v=0q1UBc32RwE

*_ภาวะโลกร้อน_*

      ภาวะโลกร้อน (Global Warming) หรือ ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) เป็นปัญหาใหญ่ของโลกเราในปัจจุบัน สังเกตได้จาก อุณหภูมิ ของโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหลักของปัญหานี้ มาจาก ก๊าซเรือนกระจก ค่ะ (Greenhouse gases)
     ปรากฏการณ์เรือนกระจก มีความสำคัญกับโลก เพราะก๊าซจำพวก คาร์บอนไดออกไซด์ หรือ มีเทน จะกักเก็บความร้อนบางส่วนไว้ในในโลก ไม่ให้สะท้อนกลับสู่บรรยากาศทั้งหมด มิฉะนั้น โลกจะกลายเป็นแบบดวงจันทร์ ที่ตอนกลางคืนหนาวจัด (และ ตอนกลางวันร้อนจัด เพราะไม่มีบรรยากาศ กรองพลังงาน จาก ดวงอาทิตย์) ซึ่งการทำให้โลกอุ่นขึ้นเช่นนี้ คล้ายกับหลักการของ เรือนกระจก (ที่ใช้ปลูกพืช) จึงเรียกว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ค่ะ
     แต่การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของ CO2 ที่ออกมาจาก โรงงานอุตสาหกรรม รถยนต์ หรือการกระทำใดๆที่เผา เชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ) ส่งผลให้ระดับปริมาณ CO2 ในปัจจุบันสูงเกิน 300 ppm (300 ส่วน ใน ล้านส่วน) เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 6 แสนปีซึ่ง คาร์บอนไดออกไซด์ ที่มากขึ้นนี้ ได้เพิ่มการกักเก็บความร้อนไว้ในโลกของเรามากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็น ภาวะโลกร้อน ดังเช่นปัจจุบันภาวะโลกร้อนภายในช่วง 10 ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 มานี้ ได้มีการบันทึกถึงปีที่มีอากาศร้อนที่สุดถึง 3 ปีคือ ปี พ.ศ. 2533, พ.ศ.2538 และปี พ.ศ. 2540 แม้ว่าพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังมีความไม่แน่นอนหลายประการ แต่การถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ได้เปลี่ยนหัวข้อจากคำถามที่ว่า "โลกกำลังร้อนขึ้นจริงหรือ" เป็น "ผลกระทบจากการที่โลกร้อนขึ้นจะส่งผลร้ายแรง และต่อเนื่องต่อสิ่งที่มีชีวิตในโลกอย่างไร" ดังนั้น ยิ่งเราประวิงเวลาลงมือกระทำการแก้ไขออกไปเพียงใด ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งร้ายแรงมากขึ้นเท่านั้น และบุคคลที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ลูกหลานของพวกเราเอง

ที่มา:http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/lopburi/usa_s/global_warming/sec01p01.html

*_จะรักหรือจะทิ้งก็บอกคฃตรงๆๆ_*




http://www.youtube.com/watch?v=qZC4tQUtybU

!_อันตรายจากครีมหน้าขาว_!

ผิวขาวใส ใครๆก็ปรารถนา ครีมหน้าขาว จึงเป็นเครื่องสำอาง ที่เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เพื่อเราให้ผิวขาวขึ้นดังใจหวัง แต่รู้หรือไม่ว่า ครีมหน้าขาว อาจไม่ได้ทำให้ผิวสวยเสมอไป แต่อาจทำให้ผิวของคุณกลายเป็นผิวเสียได้เช่นกัน
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาว นั้นได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มหนุ่ม สวย เกือบทุกวัย ยิ่งทุกวันนี้ครีมผิวขาวยิ่งหาซื้อได้ง่ายทั่วไป และ มีการโฆษณาชวนเชื่อ จนเหลือเชื่อ ทำให้ผู้บริโภคความงามส่วนใหญ่ หลงเชื่ออย่างง่ายดายบริษัทเครื่องสำอาง จึงได้ทำการคิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งครีมที่ทำให้ผิวหน้าขาวใส ในปัจจุบันจึงมีผลิตภัณฑ์เหล่านี้วางจำหน่ายอยู่มากมายในท้องตลาดซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์ก็มีส่วนประกอบของสารสำคัญที่ทำให้ ผิวขาว แตกต่างกันไป
ไฮโดรควิโนน เป็นสารเคมีซึ่งเป็นที่นิยมในการนำมาเตรียมครีมที่ทำให้ หน้าขาว ในอดีตเนื่องจากเห็นผลได้เร็วไฮโดรควิโนน ออกฤทธิ์โดยการการยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีของผิวหนังหรือ ที่เรียกว่า เมลานิน จึงมีผลทำให้ ผิวขาว ขึ้นได้
การใช้ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ ไฮโดรควิโนน นั้นควรใช้กับผู้ที่มีปัญหาฝ้าหรือ รอยด่างดำจากสิวที่รุนแรงและจะต้องมีเปอร์เซ็นต์ของตัวยาที่แน่นอนระบุอยู่นอกจากนี้ควรใช้ในระยะเวลาที่จำกัด ไม่ควรใช้นานเกินไปและไม่ควรหยุดใช้ยาทันทีเนื่องจากอาจจะทำให้ผิวคล้ำลงกว่าเดิมได้จากการที่ผิวหนังเร่งผลิตเซลล์เม็ดสีมาทดแทน
นอกจากนี้ ไฮโดรควิโนน เป็นสารที่ทำปฏิกิริยากับแสงแดดซึ่งหากทายาที่มีส่วนผสมของ ไฮโดรควิโนน แล้วไม่ทาครีมกันแดด ฝ้าจะดำกว่าเดิมได้            
ในปัจจุบันนี้ ไฮโดรควิโนน ได้ถูกสั่งห้ามใส่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่วางจำหน่ายทั่วไปอย่างไรก็ตามในคลินิกที่จ่ายยารักษาฝ้าโดยแพทย์ยังสามารถจ่ายให้ผู้ป่วยได้ตามความเหมาะสมตามดุลยพินิจของแพทย์ 
การใช้ครีมที่มีส่วนผสมของ ไฮโดรควิโนน ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ เช่นการหาซื้อครีมทาฝ้ามาใช้เอง อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักจะผสม ไฮโดรควิโนน ในปริมาณสูงมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คือ 3-5%[สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้ผสมสาร ไฮโดรควิโนน ในการรักษาฝ้าได้ไม่เกิน 2%]ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ได้
เริ่มจาก อาการระคายเคืองต่อผิวเกิดจุดด่างขาวที่หน้าผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวร รักษาไม่หายทำให้เกิดโรคผิวหนังขึ้นเกิดตุ่มนูนสีดำบริเวณโหนกแก้มและสันจมูกซึ่งเป็นบริเวณที่ทายาบ่อยๆหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 6 เดือนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อภายในผิวหนังทำให้เกิดเป็นฝ้าถาวรสีน้ำเงินอมดำได้ซึ่งอาจเกิดจากการที่ผิวหนังมีการปรับตัวให้สร้างเม็ดสีมากขึ้นรวมทั้งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

ที่มา:http://www.doctorcosmetics.com/read_content.php?id=1948&pagetype=product

*_ยังโสดจ้า_*




http://www.youtube.com/watch?v=cLvSVTs22Kw

ความรู้ทั่วไป

อนุภาคของของแข็งมีพลังงานจลน์น้อยมาก แต่ก็ยังสั่นได้ เนื่องจากอนุภาคของของแข็งอยู่ชิดกันมากกว่าของเหลว และแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคของของแข็งมีมากกว่าแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคของของเหลว ของแข็งจึงมีรูปร่างแน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามภาชนะที่บรรจุ ของแข็งบางชนิดระเหิดได้ เช่น แนพทาลีน โดยเกิดที่ผิวหน้าของของแข็ง


ที่มาhttp://web.ku.ac.th/schoolnet/snet5/topic3/solid.html

ความรู้เกี่ยวกับเคมี

อนุภาคของของแข็งมีพลังงานจลน์น้อยมาก แต่ก็ยังสั่นได้ เนื่องจากอนุภาคของของแข็งอยู่ชิดกันมากกว่าของเหลว และแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคของของแข็งมีมากกว่าแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคของของเหลว ของแข็งจึงมีรูปร่างแน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามภาชนะที่บรรจุ ของแข็งบางชนิดระเหิดได้ เช่น แนพทาลีน โดยเกิดที่ผิวหน้าของของแข็ง