ปฎิทิน

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พบดาวเคราะห์คล้ายโลกแล้ว แต่..




นับแต่ที่นักดาราศาสตร์ค้นพบเมื่อสองทศวรรษก่อนว่า ดาวฤกษ์ที่มีดาวเคราะห์เป็นบริวารไม่ได้มีแต่เพียงดวงอาทิตย์เท่านั้น ทำให้ความหวังที่จะพบดาวเคราะห์ที่มีสิ่งมีชีวิตนอกเหนือจากโลกของเราได้ทอประกายขึ้นอีกครั้ง
แต่ดาวเคราะห์ส่วนใหญ่ที่นักดาราศาสตร์พบมา ซึ่งจนขณะนี้ก็มีกว่า 500 ดวงแล้ว เกือบทั้งหมดมักเป็นดาวเคราะห์แก๊สยักษ์แบบดาวพฤหัสบดี ซึ่งไม่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นได้ สิ่งที่นักดาราศาสตร์ต้องการหาก็คือ ดาวเคราะห์ที่คล้ายโลก นั่นคือต้องเป็นดาวเคราะห์หิน ไม่ใช่แก๊ส มีขนาดและมวลไม่ต่างจากโลกมากนัก
ด้วยเหตุนี้ โครงการเคปเลอร์ จึงได้เกิดขึ้น เคปเลอร์เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศของนาซา มีหน้าที่ค้นหาดาวเคราะห์แบบโลกที่เป็นบริวารของดาวฤกษ์ดวงอื่น กล้องนี้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อสองปีก่อนด้วยความหวังว่า จะได้พบดาวเคราะห์หินขนาดเล็ก ๆ แบบโลกบ้าง
และแล้วเคปเลอร์ก็ไม่ทำให้แฟน ๆ ต้องผิดหวัง หลังจากการเก็บข้อมูลนานกว่าแปดเดือน ในที่สุดก็ได้พบดาวเคราะห์ดวงใหม่ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นที่มีขนาดเล็กมีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่เคยพบมา ดาวเคราะห์ดวงนี้มีชื่อว่า เคปเลอร์-10 บี (Kepler-10b) อยู่ห่างจากโลกไป 560 ปีแสง มีขนาดประมาณ 1.4 เท่าของโลกเท่านั้น ซึ่งถือว่าใกล้เคียงโลกมากที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นเท่าที่เคยพบมา
แต่ที่ไม่ใกล้เคียงเลยคืออัตราการโคจรรอบดาวฤกษ์ เวลาหนึ่งปีของดาวเคราะห์ดวงนี้ยาวนานเพียง 0.84 วันของโลกเท่านั้นเอง นั่นเพราะดาวดวงนี้มีรัศมีวงโคจรเล็กมาก เล็กกว่ารัศมีวงโคจรของดาวพุธถึง 23 เท่า และด้วยเหตุที่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์มากนี่เอง จึงทำให้มันร้อนมาก อุณหภูมิด้านกลางวันสูงถึง 1,370 องศาเซลเซียส ร้อนพอที่จะหลอมเหล็กได้ แน่นอนว่าไม่ต้องไปถามว่ามีสิ่งมีชีวิตหรือไม่
แม้การค้นพบครั้งนี้ จะไม่ได้ให้ความหวังอะไรเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต แต่ก็ถือว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญยิ่ง เพราะได้แสดงถึงศักยภาพอันโดดเด่นของเคปเลอร์ในการค้นหาดาวเคราะห์ที่มีขนาดใกล้เคียงโลกมากแบบนี้ได้
วิธีการหาดาวเคราะห์ของเคปเลอร์ใช้หลักการที่เรียกว่า การผ่านหน้า เมื่อดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวฤกษ์ จะบดบังแสงจำนวนส่วนหนึ่งไป ซึ่งตรวจจับได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่มีความไวแสงสูงมาก การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงความเข้มแสงจะบอกได้ว่าวัตถุที่มาบังนั้นมีคาบโคจรเท่าใด รวมถึงขนาดและมวลด้วย
เคปเลอร์มีอาวุธเด็ดคือกล้องที่มีเซนเซอร์ซีซีดี 95 เมกะพิกเซล ซึ่งเป็นกล้องที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยขึ้นสู่อวกาศ
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบหลักฐานว่าระบบสุริยะของ เคปเลอร์-10 นี้อาจมีดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งร่วมอยู่ด้วย สมมุติฐานนี้มาจากการพบเหตุการณ์ที่คล้ายกับมีดาวเคราะห์ดวงหนึ่งเคลื่อนผ่านหน้าดาวฤกษ์ทุก 45 วัน ดาวเคราะห์ดวงนี้อาจมีขนาดใหญ่กว่าโลกสองเท่าเศษ แต่หลักฐานส่วนนี้ยังไม่หนักแน่นเท่าดวงแรก

http://thaiastro.nectec.or.th/news/viewnews.php?newsid=74

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น